เลี้ยง“แมงดานา”ให้ได้ผลผลิตดี ต้องเข้าใจธรรมชาติ มีจำหน่ายตลอดปี
เลี้ยง“แมงดานา”ให้ได้ผลผลิตดี ต้องเข้าใจธรรมชาติ มีจำหน่ายตลอดปี
“แมงดานา” หรือแมลงดานา เป็นแมลงที่คนไทยรู้จักและบริโภคกันมาตั้งแต่อดีต และปัจจุบันถือเป็นแมลงที่มีปริมาณความต้องการมากเป็นอันดับต้น ๆ ของบรรดาแมลงกินได้ทั้งหมด ส่งผลให้มีราคาดีตลอดปี ที่ผ่านมามีเกษตรกรสนใจเพาะเลี้ยงแมงดานาเชิงพาณิชย์กันจำนวนมาก แต่ทว่าก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทั้งนี้เป็นเพราะข้อจำกัดทั้งเรื่องของอาหาร การจัดการระยะต่าง ๆ ส่งผลให้มีอัตราการรอดต่ำ และพบปัญหาแมลงดานากินกันเอง
อ.ชาตรี ต่วนศรีแก้ว อาจารย์ประจำโรงเรียนสถาพรวิทยา จังหวัดนครปฐม เป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาและพัฒนาการเลี้ยงแมงดานามานานกว่า 8 ปี จนค้นพบรูปแบบวิธีการเลี้ยงแมงดานาที่เหมาะสม จัดการง่ายและได้ผลดี ทั้งยังสามารถทำให้มีผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญรูปแบบการเลี้ยงที่พัฒนาขึ้นมานี้พร้อมที่นำไปต่อยอดสำหรับเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ไม่ยากอีกด้วย
“ที่โรงเรียนสถาพรวิทยา มีศูนย์เรียนรู้โรงเรียนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งใช้สอนเด็ก ๆ ในโรงเรียน รวมถึงใช้เป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ผู้สนใจอาชีพด้านการเกษตรด้วย ภายในศูนย์ฯ มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการทำปุ๋ยหมัก ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง รวมถึงการเพาะเลี้ยงแมงดานา”
อ.ชาตรี บอกว่าแต่เดิมทางศูนย์ฯ ได้เพาะเลี้ยงกบจำนวนมาก และกบตัวผู้มักมีอัตราการเจิรญเติบโตช้า ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูง ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ช่วงแรกก็นำไปปล่อยในทุ่งนาใกล้ศูนย์ฯ แต่กบเลี้ยงหาอาหารกินเองไม่เป็นโอกาสรอดจึงน้อย ทั้งยังเป็นการเรียกศัตรูจำพวกงูและสัตว์มีพิษเข้ามาใกล้ศูนย์ฯ ด้วย จึงได้นำมาทดลองเลี้ยงปลาช่อน ซึ่งก็พบว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเช่นกัน
ระหว่างที่หาวิธีการใช้ประโยชน์จากกบตัวผู้อยู่นั้น ก็ได้พูดคุยกับชาวบ้านและได้ข้อมูลว่า ในธรรมชาติแมงดานากินกบเป็นอาหาร ตรงนี้เองทำให้ได้จุดประกายการเลี้ยงแมงดานาขึ้นมา ก็ได้เริ่มศึกษาการเพาะเลี้ยง ซึ่งนั้นขณะนั้นยังไม่มีข้อมูลเผยแพร่มากนัก ใช้วิธีศึกษาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านเป็นหลัก รวมถึงสายพันธุ์ก็หาได้ยากต้องไปดักจับไกลถึงจังหวัดนครราชสีมา แต่ได้มาเพียงไม่กี่ตัว สุดท้ายก็พบแหล่งจำหน่ายแมงดานาขนาดใหญ่ที่ตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นแมลงดานาที่นำเข้ามาจากกัมพูชาจึงได้นำมาทดลองเลี้ยง
“เมื่อศึกษาแหล่งจำหน่ายและรับซื้อแมงดานา พบว่าแต่ละปีไทยนำเข้าแมงดานามาบริโภคจำนวนมาก และจากการสอบถามบรรดาผู้ค้าแมงดานาทราบว่าแต่ละปีไทยนำเข้ามาจากกัมพูชาไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัว และนำเข้าจากพม่าอีกปีละกว่า 3 แสนตัว หากคิดราคาเฉลี่ยตัวละ 10 บาท นับเป็นมูลค่าไม่น้อยเลยทีเดียวที่ไทยเสียดุลการค้าให้ประเทศเหล่านี้ ทำให้ตนเองมีกำลังใจในการศึกษาการเพาะเลี้ยงแมงดานามากขึ้น”
การเลี้ยงแมงดานาของ อ.ชาตรี จะเน้นวิธีเรียนแบบธรรมชาติ โดยในช่วงแรกนำพ่อแม่พันธุ์มาลงเลี้ยงในบ่อดิน ขนาดประมาณ 4 ตารางเมตร (เลี้ยงได้ประมาณ 300 ตัว) มีโครงไม้ไผ่และตาข่ายคลุมเพื่อป้องกันพ่อแม่พันธุ์หลบหนี พร้อมจัดสภาพบ่อให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ปลูกไม้น้ำเพื่อให้เป็นที่อาศัยและวางไข่ของแมงดานา ซึ่งก็ใช้เวลาลองผิดลองถูกนานกว่า 3 ปี ในที่สุดก็ได้วิธีที่ทำให้แมงดานาวางไข่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเพาะเลี้ยง
“หลังจากเลี้ยงได้สักระยะ ก็ได้ข้อสรุปว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่พันธุ์สมบูรณ์พร้อมที่ออกไข่ คือ อาหาร ซึ่งได้ทดลองใช้ทั้งลูกปลานิล ปลาหางนกยูง ปู กุ้ง ปรากฎว่าแมลงดานาก็สามารถกินได้ทุกชนิด แต่ถ้าต้องการให้แมงดานามีอัตราการวางไข่ที่ดี จำเป็นต้องเลี้ยงด้วยลูกกบขนาดประมาณหัวแม่มือ จะทำให้ตัวเมียสมบูรณ์เต็มที่ ท้องป่องเนื่องจากมีไข่อยู่ข้างในจำนวนมาก”
สำหรับการกระตุ้นให้แมลงดานาวางไข่ อ.ชาตรี ใช้วิธีทำฝนเทียม โดยติดสปริงเกอร์ไว้เหนือบ่อ เปิดน้ำช่วงประมาณ 18.00-23.00 น. ไม่ควรเปิดทั้งคืนเพราะทำให้ตัวเมียไม่วางไข่ รวมถึงน้ำในบ่อต้องนิ่งและมีปริมาณคงที่ หากทำฝนเทียมแล้วระดับน้ำเพิ่มขึ้นตัวเมียก็ไม่ยอมวางไข่เช่นกัน ทั้งนี้เป็นเพราะแมงดานาจะวางไข่บนกอหญ้าเหนือผิวน้ำประมาณ 3-5 เซนติเมตร หากระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเมียกลัวน้ำท่วมไข่จึงไม่ยอมวางไข่นั่นเอง ดังนั้นบ่อเลี้ยงควรมีรูระบายน้ำเพื่อให้มีระดับคงที่อยู่ตลอดเวลาด้วย
ทำฝนเทียมประมาณ 4-5 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ แมงดานาก็ขึ้นมาวางไข่ให้เห็นตามกอไม้น้ำ กลุ่มละประมาณ 100-150 ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่พันธุ์ หลังจากไข่เสร็จควรแยกตัวเมียออกมาพักฟื้น เพราะหากปล่อยไว้แม่จะกินไข่ตัวเอง แล้วนำแม่ไปเลี้ยงเพื่อเตรียมผสมพันธุ์ต่อไป แม่ตัวหนึ่งจะให้ไข่ได้ประมาณ 3 ครั้ง
ส่วนตัวผู้จะทำหน้าที่ฟักไข่ โดยมาเกาะที่ไข่ในลักษณะทิ่มหัวลง หากฝนตกจะช่วยป้องกันโดยใช้ส่วนหางปิดไข่ แต่ถ้าอากาศร้อนเกินไปจนไข่แห้ง ตัวผู้ก็จะลงน้ำให้ตัวเปียกแล้วขึ้นมาเกาะไข่ไว้ตามเดิม ซึ่งไข่แมงดานาเมื่อออกมาใหม่ ๆ จะมีขนาดเล็กแล้วจะค่อย ๆ พองขึ้นตามอายุ ประมาณ 10 วัน หมวกไข่ก็เปิดออก ตัวอ่อนที่อยู่ข้างในก็หล่นลงน้ำ
“ในกรณีที่นำไข่แมงดานามาฟักเอง ทำได้โดยตัดไม้น้ำที่มีไข่แมงดามาแขวนไว้ในน้ำ โดยให้ไข่อยู่สูงจากระดับน้ำที่ซึมขึ้นมาตามไม้น้ำประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งทำให้ไข่ได้รับอุณภูมิและไอน้ำได้ในระดับที่เหมาะพร้อมที่จะฟักออกเป็นตัว ถ้าห้อยไข่ไว้ต่ำเกินไปไข่โดนน้ำทำให้เสียได้หรือหากสูงกว่านี้ก็ทำให้ไข่แห้งฟักไม่ออก ซึ่งเคยทดลองนำไข่มาฟักไว้ในร่มปรากฏว่าไข่ไม่ฟัก ดังนั้นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการฟักไข่ คือให้มีแสงส่องรำไรแต่ก็ไม่ควรร้อนเกินไปด้วย ใช้เวลาประมาณ 10 วัน ไข่ก็ฟักเป็นตัวหล่นลงน้ำเช่นเดียวกัน”
ตัวอ่อนที่หล่นลงน้ำใหม่ ๆ มีสีเหลือง เมื่อผ่านไปประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็กลายเป็นสีดำ เดิมทีที่เลี้ยงในบ่อดิน ทำให้สังเกตเห็นตัวอ่อนได้ยาก ตนเองจึงพัฒนามาเลี้ยงในบ่อพลาสติก ซึ่งมองเห็นตัวอ่อนได้ชัดเจน ช่วยให้การจัดการและการคัดแยกมาเลี้ยงง่ายขึ้น
ทั้งนี้หลังจากแมงดานาออกมาจากไข่ประมาณ 3 ชั่วโมง ตัวอ่อนก็เริ่มกินกันเองเพื่อนำพลังงานมาใช้ในการลอกคราบครั้งแรก พฤติกรรมนี่เองเป็นปัจจัยทำให้การเลี้ยงแมงดานาไม่ประสบความสำเร็จ ตนเคยทดลองปล่อยตัวอ่อนไว้ในกะละมังเดียวกัน 100 ตัว ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์เหลือแมงดานาเพียง 4-5 ตัวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อแมงดานาตกจากไข่ จำเป็นต้องนำมาเลี้ยงเดี่ยวทันที อาจเลี้ยงในขวดพลาสติกหรือแก้วน้ำ แล้วจัดเรียงเป็นชั้น ๆ คล้ายเลี้ยงปลากัด ซึ่งทำให้ง่ายแก่การจัดการและช่วยให้อัตรารอดของแมงดานามากขึ้น
สำหรับอาหารของตัวอ่อนแมงดานา ในธรรมชาติช่วงสัปดาห์แรกตัวอ่อนจะกินซากลูกกบที่แม่กินไว้ ดังนั้นระยะนี้อาจให้อาหารที่ตายแล้ว หรือหากเลี้ยงจำนวนมากก็สามารถใช้อาหารแช่แข็งก็ได้ แต่เมื่อผ่านสัปดาห์แรกไปจำเป็นต้องให้อาหารมีชีวิต ซึ่งตัวอ่อนแมงดานากินได้ทุกอย่างทั้งลูกปลา กุ้ง แต่ทว่ามักมีปัญหาการลอกคราบ หากตัวอ่อนลอกคราบไม่หมดเปอร์เซ็นต์รอดก็ต่ำ ซึ่งต่างจากการให้กินลูกอ๊อด แมลงดานาจะมีอัตราการเติบโตดีและลอกคราบได้ปกติ
ประมาณ 10 วัน ตัวอ่อนลอกคราบครั้งที่ 2 โดยลอกคราบทั้งหมดประมาณ 4 ครั้ง ถึงครั้งสุดท้ายใช้เวลาประมาณ 50-70 วัน (ตัวใหญ่ที่ลอกคราบครั้งสุดท้ายภายใน 50 วัน ส่วนใหญ่จะเป็นตัวผู้ เพราะตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมีย แต่ถ้าลอกคราบถึง 70 วัน ส่วนใหญ่เป็นตัวเมีย) ซึ่งพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยขนาดเท่าหัวแม่มือ มีปีกและเมื่อปีกแข็งก็เริ่มบินได้ หลังจากเป็นตัวเต็มวัยจะไม่มีปัญหากินกันเอง จากนั้นก็จะนำไปเลี้ยงรวมกันในบ่อที่มีตาข่ายปิดมิดชิด ให้ลูกกบเป็นอาหารกินอย่างเต็มที่ นับตั้งแต่ออกจากไข่มา อายุ 3-4 เดือนก็จำหน่ายได้
“เนื่องจากแมงดานาเป็นมวลน้ำที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแมลงประเภทปากดูดจึงไม่สามารถพัฒนาอาหารให้กินเหมือนกับแมลงปากกัดแทะแบบจิ้งหรีดหรือตั๊กแตนได้ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งของการเลี้ยงแมลงดานา”
ในธรรมชาติจะสังเกตได้ว่า หลังจากฝนตกแล้วหากแหล่งน้ำไหนมีกบมาวางไข่ ก็จะเห็นไข่แมลงดานาอยู่บริเวณนั้นด้วย ซึ่งถือเป็นห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันหากไม่มีลูกอ๊อดหรือกบมาวางไข่ ก็จะไม่เห็นไข่แมงดานาในบริเวณแหล่งน้ำนั้นด้วยเช่นกัน
“จากการเพาะเลี้ยงแมงดานามานานปี ทำให้มีข้อสรุปว่า อาหารที่ดีที่สุดสำหรับแมงดานา ที่ทำให้ตัวเมียมีความสมบูรณ์และวางไข่ได้จำนวนมาก คือ ลูกกบ ส่วนอาหารสำหรับตัวอ่อนของแมงดานาที่ดีที่สุดที่ทำให้ลอกคราบได้ปกติทุกระยะคือ ลูกอ๊อด ดังนั้นหากต้องการเลี้ยงแมงดานาให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีการเพาะเลี้ยงกบไว้เป็นอาหารของแมงดานาด้วย”
อ.ชาตรี บอกว่าไม่แนะนำให้เพาะเลี้ยงกบเพื่อใช้เป็นอาหารแมงดานาเพียงอย่างเดียวซึ่งไม่คุ้มค่า เพราะผลผลิตลูกกบที่ออกมามีจำนวนมาก การจัดการก็ลำบาก แต่อยากให้เพาะเลี้ยงกบเพื่อจำหน่ายแล้วคัดเลือกตัวผู้หรือตัวที่ไม่สมบูรณ์มาเป็นอาหารของแมงดานาซึ่งมีความคุ้มค่ากว่ามาก หรือในกรณีต้องการเลี้ยงแมงดานาแล้วหวังพึ่งพาลูกกบจากธรรมชาติก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะปริมาณที่หาได้ในแต่ละวันไม่เพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน
ตลอดจนการไปซื้อลูกกบมาเพื่อเลี้ยงแมงดานาก็ไม่คุ้มค่าเช่นกัน เพราะแมงดานาตัวหนึ่งตลอดการเลี้ยงกินลูกกบมากถึง 10-30 ตัว หากใช้วิธีซื้อเข้ามา คิดราคาเพียงตัวละ 1 บาท ก็ขาดทุนแล้ว ขณะที่หากมีการเพาะเลี้ยงกบไว้เอง ซึ่งแม่พันธุ์หนึ่งตัวให้ลูกกบได้ถึง 1,000-2,000 ตัว มีพันธุ์แม่กบแค่ 2-3 ตัว ก็เพียงพอที่จะเลี้ยงแมลงดานาเป็นอุตสาหกรรมแล้ว
“ส่วนตัวไม่แนะนำให้เลี้ยงแมงดานาเป็นอาชีพหลัก หรือเริ่มต้นจากการเลี้ยงแมลงดานาเลย เพราะมองว่าไม่คุ้มค่า อยากให้ลองเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมมากกว่า เช่น มีการเพาะเลี้ยงกบอยู่แล้วก็นำแมงดานามาเลี้ยงด้วย โดยทำในเชิงเกษตรผสมผสาน ทำให้การเลี้ยงแมงดานาราบรื่นกว่าเลี้ยงเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้หากเกษตรกรเลี้ยงกบอยู่แล้วมักมีความละเอียดอ่อน เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ การมาเลี้ยงแมงดานาจึงไม่เป็นภาระมากนัก”
แมลงดานาเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตลาดมีความต้องการสูงทั้งยังมีราคาดี ทว่าผู้เลี้ยงต้องทำอยู่บนพื้นฐานความคุ้มค่าด้วยไม่ควรลงทุนมากเกินไป ที่ผ่านมามีผู้เลี้ยงแมงดานาหลายรายที่เลี้ยงด้วยพื้นฐานความโลภ ต้องการเลี้ยงจำนวนมากและมีการลงทุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ทว่ายังไม่เข้าใจวิธีบริหารจัดการการเลี้ยงแมงดานาดีพอ ทำให้มีต้นทุนสูง ทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหวและต้องเลิกเลี้ยงกันไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่พัฒนาการเลี้ยงแมงดานาในเชิงอุตสาหกรรม แต่ทว่าต้องพัฒนาระบบการเลี้ยงโดยเฉพาะระยะตัวอ่อนที่มักมีปัญหากินกันเองทำให้มีอัตราการรอดต่ำ ต้องพัฒนาตั้งแต่ระบบโรงเรือนให้มีความเหมาะสมสำหรับการเลี้ยง แสงแดดส่องรำไรเพื่อให้ไม้น้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของแมงดานาเจริญเติบโตได้ดี พร้อมกับพัฒนาภาชนะใช้เลี้ยงแบบขังเดี่ยว ซึ่งอาจออกแบบกล่องพลาสติกให้เป็นช่อง ๆ เพื่อเลี้ยงแมงดานาแต่ละตัว มีระบบถ่ายน้ำไม่ให้เกิดการเน่าเสีย หรือไม่ต้องยกเปลี่ยนทีละใบเหมือนเลี้ยงในขวดพลาสติกที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก รวมถึงวิธีการให้อาหาร อาจให้ลูกอ๊อดว่ายไปมาเพื่อให้ตัวอ่อนของแมงดาจับกินได้ตลอดเวลา และหลังจากระยะนี้ไปการเลี้ยงแมลงดานาก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว
“รูปแบบที่เลี้ยงอยู่ในปัจจุบันของศูนย์ ฯ เป็นเพียงต้นแบบให้ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอด ซึ่งการพัฒนาเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมมองว่าทำไม่ยาก เพราะทุกขั้นตอนการเลี้ยงแมงดานาทำได้สำเร็จหมดแล้ว รู้ว่าอาหารที่ดีที่สุดของแมงดานาคืออะไร อาหารสำหรับตัวอ่อนต้องใช้อะไร และระยะไหนมีปัญหากินกันเองพร้อมกับมีวิธีแก้ไข เพียงแค่พัฒนาอุปกรณ์การเลี้ยงให้เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนไทยอย่างแน่นอน”
สำหรับตลาดแมงดานา ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านปีละเกือบล้านตัว ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก จึงไม่ต้องกังวลเลยว่าเลี้ยงมาแล้วจะจำหนายที่ไหน ซึ่งเชื่อว่ามีเท่าไรก็ไม่พอ รวมถึงตลาดต่างประเทศ ตามร้านอาหารไทยในที่ต่าง ๆ ล้วนมีความต้องการแมงดานากันทั้งนั้น
แต่ทว่าแมงดานามีอยู่ 2 ราคา ตัวผู้มีกลิ่นฉุนซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่ามีราคาที่ 20-25 บาท ขณะที่ตัวเมียที่กลิ่นฉุนน้อยกว่าราคาอยู่ที่ตัวละ 5 บาทเท่านั้น ความแตกต่างของราคาระหว่างแมงดานาตัวผู้กับตัวเมีย ก็เป็นข้อเสียของการเลี้ยงเช่นกัน เพราะหากแมงดาที่เพาะเลี้ยงออกมาเป็นตัวผู้ส่วนใหญ่ก็ทำให้มีกำไรมาก ขณะที่หากมีตัวเมียออกมาเยอะ ก็ทำให้มีรายได้เข้ามาน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดได้ยาก
“ปัจจัยที่ทำให้แมงดานาออกมาเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย เท่าที่สังเกตหากเพาะพันธุ์ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-เมษายน ลูกแมงดานาออกมาจะเป็นตัวผู้มากกว่าตัวเมีย แต่ถ้าไปเพาะพันธุ์ช่วงฤดูฝน ลูกแมงดานาที่ออกมาจะเป็นตัวเมียมากกว่า ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเพศจริง ๆ แต่ที่เพาะพันธุ์ออกมาส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะนี้”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น