ไปดูการเลี้ยงปลาบึกด้วยเศษอาหาร ต้นทุนต่ำ ได้กำไรสูง ที่ลำลูกกา

ไปดูการเลี้ยงปลาบึกด้วยเศษอาหาร ต้นทุนต่ำ ได้กำไรสูง ที่ลำลูกกา 



ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืด ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และช่วง 1-2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ในธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยว่าถูกไล่ล่ามาเป็นอาหาร 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ สามารถนำพ่อแม่พันธุ์มาเพาะขยายพันธุ์ได้เหมือนกับปลาเศรษฐกิจทั่วๆ ไปแล้ว

คนไทยที่จารึกชื่อไว้เป็นผู้ขยายพันธุ์ปลาบึกได้รายแรกของโลกคือ คุณเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ปัจจุบันเป็นเจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาบึกรายใหญ่ จังหวัดเชียงราย

สั่งสินค้าได้ที่  :  ร้านบ้านโชคฟาร์ม


ช่วงแรกๆ หรือ 20-30 ปี ที่ผ่านมา นิยมจับพ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง มารีดน้ำเชื้อและไข่ ทดลองมาหลายปี จนประสบความสำเร็จ จากนั้นนำลูกปลาที่เพาะเลี้ยงมาปล่อยคืนสู่กลับแม่น้ำ และเขื่อนต่างๆ ทั่วไป นอกจากนี้ ยังทดลองเลี้ยงไว้ในบ่อดินตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งของภาครัฐและเอกชน ปรากฏว่าปลาแต่ละวัยเจริญเติบโตดี และพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไปด้วย

ไม่แปลกใจเลย ที่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้เห็นภาพการล่าปลาบึกจากธรรมชาติเพื่อมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ เพราะว่าส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนนิยมนำปลาจากบ่อเลี้ยงมาเพาะพันธุ์ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการจัดการและประหยัดเวลา รวมถึงการใช้จ่ายด้วย

ด้วยการพัฒนาการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้ ปลาบึกทั้งตัวเล็กและใหญ่มีให้เห็นตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำชั้นนำทั่วประเทศ

และตามร้านอาหาร หรือโรงแรมทั่วๆ ไป ก็นิยมนำเนื้อปลาชนิดนี้มาแปรรูปเป็นอาหารไว้บริการลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติด้วย

เนื้อปลาบึกที่นำมาเป็นอาหารนี้ ส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำของภาคเอกชนหรือเกษตรกรเกือบทั้งนั้น



"จากการทำงานวิจัยปลาบึกมา 20 ปีเศษ สามารถสรุปได้ว่า ปลาบึก เป็นปลาที่เกิดมาเพื่อเลี้ยงปากท้องของพลโลกอย่างแท้จริง เพราะว่าปลาชนิดนี้มีคุณสมบัติสำคัญๆ ที่จะเลี้ยงเพื่อเป็นการค้าอย่างครบถ้วน คือเป็นปลาขนาดใหญ่ที่เจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าปลาน้ำจืดอื่นๆ ทุกชนิด ต้นทุนการเลี้ยงค่อนข้างต่ำ และทรหด อดทน สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงได้ดี อีกทั้งมีภูมิต้านทานโรคสูง ไม่เคยพบปลาชนิดนี้มีโรคระบาดร้ายแรงใดๆ เลย นอกจากนี้ เนื้อมีรสชาติดี อร่อย ผู้คนให้ความนิยมบริโภคสูง และมีราคาแพงกว่าปลาชนิดอื่น เพราะเชื่อกันว่ากินแล้วอายุยืน และโชคดี" คุณเสน่ห์ เคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าวเมื่อหลายปีก่อน

ปลาบึกนี้ใช้ระยะการเลี้ยงเพียง 1 ปี ก็สามารถเจริญเติบโตได้น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม ต่อปีแล้ว ยิ่งเลี้ยงเข้าปีที่ 3 และ 4 ก็มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 50-80 กิโลกรัมแล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณหนาแน่นในการปล่อยเลี้ยง และการให้อาหาร รวมทั้งสายพันธุ์ด้วย 

"ตอนนี้มีเจ้าของฟาร์มสัตว์น้ำบางแห่ง นำปลาบึกมาผสมพันธุ์กับปลาสวาย กลายเป็นลูกผสม ชื่อ บิ๊กหวาย จำหน่ายลูกปลาในราคาถูกๆ ให้กับเกษตรกร ซึ่งปลาลูกผสมดังกล่าว จะมีข้อเสียคือ เจริญเติบโตช้า และราคารับซื้อเพียงกิโลกรัมละ 30-40 บาท เท่านั้น หากผู้บริโภคหรือเจ้าของร้านอาหารไม่มีความรู้หรือความชำนาญด้านนี้ จะดูไม่ออก เพราะว่าบิ๊กหวายกับปลาบึกนั้นมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างบริเวณหัว ลูกตา อาหาร สี และลักษณะตัว นอกจากนี้ ด้านรสชาติด้วย" คุณเสน่ห์ กล่าว

ปลาบึก ยิ่งตัวโต ยิ่งอร่อย ทั้งหนังและเนื้อ ส่วนบิ๊กหวายรสชาติคล้ายๆ ปลาสวาย

ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อลูกปลาบึกจากใคร ต้องสืบดูให้รู้แน่เสียก่อนว่าเป็นพันธุ์แท้หรือไม่ เพราะว่าบางครั้งอาจเจอบิ๊กหวาย และหากเลี้ยงโตแล้วนำไปเสนอขายให้กับพ่อค้าหรือเจ้าของร้านอาหาร ราคารับซื้อไม่ดีอย่างที่คิดก็ได้

จากการศึกษาความแตกต่างปลาบึกและบิ๊กหวายของคุณเสน่ห์ โดยใช้ลูกปลา ขนาด 3-5 นิ้ว พบว่า หัวปลาบึกพันธุ์แท้ ยาวใหญ่และจะงอยปากกว้างค่อนข้างตัดตรง เมื่อมองจากด้านบนคล้ายรูปสี่เหลี่ยม และลูกตาอยู่ในระดับต่ำกว่ามุมปากเล็กน้อย

หางของปลาบึกพันธุ์แท้ แพนหางบนและล่างเป็นแถบกว้างและถ่างออกจากกัน เป็นมุมกว้าง มีแถบสีดำพาดไปตามความยาวของขอบแพนหางด้วย

หัวแก้ม สันหลัง และครีบทุกครีบมีสีเหลืองชัดเจน และลำตัวกว้าง ท่าทีล่ำสันแข็งแรง ตรงกันข้ามกับปลาบิ๊กหวายที่มีหัวแก้ม สันหลัง สีเทาอมดำชัดเจน เมื่อดูด้านข้างลำตัวแคบ ว่องไว ปราดเปรียว



"ผมอยากให้ทุกคนที่อยู่ในวงการสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงหรือผู้บริโภค มีความรู้ รู้จักสังเกต ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถูกหลอก ไม่ใช่หลงเลี้ยงจนโต เมื่อถึงเวลาจับขายกลับได้ราคาถูก หรือผู้บริโภคหลงซื้อราคาแพง แต่รสชาติหรือคุณภาพเนื้อไม่อร่อย" คุณเสน่ห์ กล่าว

การเจริญเติบโตของปลาบึกนั้น ดังที่บอกแล้ว นอกจากสายพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาด้วย

ตามธรรมชาติปลาบึก เมื่อยังเล็กอยู่จะกินพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตั้งแต่โรติเฟอร์ ไรน้ำ หนอนแดงแมลงในน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลา ไปตามลำดับของอายุ และขนาดของตัวเอง จนถึงเมื่อมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร จึงจะเริ่มเปลี่ยนนิสัยการกิน เพราะฟันในปากเริ่มเสื่อมสูญไป หันมากินพืชในน้ำเป็นอาหารหลัก

ปลาชนิดนี้หากใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปของปลาดุกหรือปลากินพืชก็จะทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างสูง เพราะว่าเป็นปลาตัวใหญ่ ซึ่งปัจจุบันนี้ฟาร์มเลี้ยงปลาบึกทั่วๆ ไป มักจะผลิตอาหารขึ้นมาเอง โดยใช้การผสมดังนี้ คือปลายข้าวเหนียว ปลาป่น กากถั่วเหลือง รำละเอียด และน้ำมันพืช ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงปลานั่นเอง

ข้อมูลการเลี้ยงปลาบึกของคุณเสน่ห์ พบว่า การที่จะให้ปลาโตหรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม นั้นจะต้องลงทุนผลิตอาหารให้กินประมาณ 50 บาท ซึ่งเป็นการใช้เงินที่สูง อย่างไรก็ตาม ราคารับซื้อผลผลิตปลาบึกโดยทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาท ต่อกิโลกรัม

"ในอนาคตเมื่อมีผลผลิตออกท้องตลาดเยอะ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ราคารับซื้อจะดีอยู่อีกหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าหากกรมประมงสามารถผลักดันให้ปลาบึกเป็นปลาเศรษฐกิจสามารถจำหน่ายในต่างประเทศได้ ปัญหาการตลาดหรือผลผลิตตกต่ำแทบจะไม่มี เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดที่ตลาดต้องการมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ผู้คนนิยมบริโภคกันเยอะเลยทีเดียว"

"ตอนนี้ปลาบึกอยู่ในบัญชี 1 ของไซเตส ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีการผลักดันปลาบึกให้อยู่ในบัญชี 2 ซึ่งจะสามารถซื้อขายระหว่างประเทศได้ เหมือนๆ กับจระเข้ และเมื่อถึงเวลานั้น ปลาบึกจะเป็นปลาเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ ราคารับซื้ออาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้" คุณเสน่ห์ กล่าว


สั่งสินค้าได้ที่  : ร้านบ้านโชคฟาร์ม


ลดต้นทุนการเลี้ยงด้วยเศษอาหาร

เอ่ยชื่อ คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 7/1 หมู่ที่ 10 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โทร. (081) 839-2496 แฟนๆ นิยตสารเทคโนโลยีชาวบ้านคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะว่าเมื่อปีที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราวของชายผู้นี้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์น้ำแนวธรรมชาติด้วยเศษอาหารมา 4 ตอน เต็มๆ โดยเน้นเรื่องปลาสวาย ปลาจะละเม็ดน้ำจืด ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุกบิ๊กอุย เป็นต้น

วันนี้จะนำมาเสนออีกครั้ง แต่จะเน้นเรื่องปลาบึกเป็นหลัก เนื่องจากข้อมูลการเลี้ยงปลาชนิดนี้ยังมีการเผยแพร่กันค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่การเพาะขยายพันธุ์ประสบความสำเร็จมานานหลายปีแล้ว

การเลี้ยงปลาบึกแบบฉบับของคุณเม่งฉ่องนั้นน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าใช้ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลสองประการหลักๆ คือ หนึ่งใช้เศษอาหารเลี้ยงปลา และในระหว่างเลี้ยงหรือจับปลาขายไม่เคยดูดน้ำทิ้งหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย

"ผมมีบ่อเลี้ยงปลาหลายสิบบ่อ รวมๆ เนื้อที่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ และรถกระบะอีก 10 คัน เพื่อไว้สำหรับวิ่งรับเศษอาหารตามศูนย์การค้า โรงแรม และโรงเรียน วันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ตัน เศษอาหารพวกนี้เราก็นำมาเลี้ยงปลาสวาย ปลาจะละเม็ด ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุกบิ๊กอุย รวมทั้งปลาบึกด้วย" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

เศษอาหารดังกล่าว คุณเม่งฉ่อง ไม่ใช่จะได้มาฟรีๆ ส่วนใหญ่จะใช้เงินซื้อมาในราคาค่อนข้างต่ำ รวมๆ แล้ว อยู่ที่ 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม (รวมค่าขนส่งด้วย)

เขาเช่าที่ดิน เพื่อใช้เลี้ยงปลาบึกอยู่เกือบๆ 80 ไร่ ในราคา 70,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี ซึ่งที่ดินผืนนี้เดิมทีเป็นท้องนา แต่ถูกขุดหน้าดินขาย กลายเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ ยกเว้นเลี้ยงปลาอย่างเดียว





ซื้อพันธุ์ปลาบึกมาปล่อยเลี้ยง

พันธุ์ปลาบึกที่ซื้อมาเลี้ยงนั้น มาจากหลายฟาร์ม และส่วนหนึ่งก็ซื้อมาจากคุณเสน่ห์ ซึ่งคุณเม่งฉ่องจะเน้นปลาพันธุ์แท้เท่านั้น โดยเขาให้เหตุผลว่า จะเจริญเติบโตเร็ว และรสชาติดี ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาด้านตลาดที่จะตามมา

"ตอนนี้ตลาดปลาบึกผมมีอยู่ในมือ 3-4 แห่ง คือ หนึ่ง ตามตลาดสดทั่วไป สอง ร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำ สาม ผู้ส่งออก และสี่ บ่อตกปลาทั่วๆ ไป ซึ่งผมจะจับทั้งปลาตายและปลาเป็น ตลาดสดราคารับซื้ออยู่ที่ 80 บาท ต่อกิโลกรัม ผู้ส่งออก ราคาอยู่ที่ 90 บาท ต่อกิโลกรัม และร้านอาหารหรือโรงแรมชั้นนำ ประมาณ 130 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนบ่อตกปลานั้น เราจะขายปลากันตัวเป็นๆ และรวมค่าขนส่งด้วย ซึ่งราคาอยู่ที่ 150-300 บาท ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะทางในการขนส่ง" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่องมีแรงงานในการเลี้ยงปลาทั้งหมด กว่า 20 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญในการลากอวนจับปลาจำหน่ายอยู่เพียง 7 คน เท่านั้น

"ปลาทุกชนิดที่ผมเลี้ยงจะไม่มีดูดน้ำหรือถ่ายน้ำทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเตรียมบ่อ ระหว่างเลี้ยง หรือขั้นตอนการจับขาย ผมจะใช้หลักการธรรมชาติที่ในบึงใหญ่ๆ หรือทะเล ไม่เห็นว่ามีใครไปเปลี่ยนน้ำหรือเตรียมบ่ออะไรเลย พวกปลาหรือสัตว์น้ำมันอาศัยอยู่ได้ และมนุษย์ก็รู้จักจับปลาในธรรมชาติมายาวนานแล้ว ดังนั้น ที่ฟาร์มจะยึดหลักธรรมชาติทั้งสิ้น" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่องจะใช้แรงงานลากอวนจับปลาบึกขายเกือบทุกๆ สัปดาห์ หรือตามใบสั่งซื้อของลูกค้า เมื่อรู้ว่าปลาเริ่มเบาบางลง คุณเม่งฉ่องจะสั่งซื้อลูกพันธุ์ปลามาปล่อยเพิ่มเติมลงไป

"ตอนนี้ ผมเลี้ยงปลาบึกเพื่อเป็นการค้าจริงจังมา 4 ปีแล้ว ซึ่งปลาบางตัวมีน้ำหนักมากถึง 80 กิโลกรัมแล้ว ผมจะเลี้ยงไปเรื่อยๆ ยิ่งโต ยิ่งดี เพราะว่าตลาดต้องการปลาทุกไซซ์ และการจัดการเลี้ยงหรือโรคภัยไข้เจ็บไม่มีด้วย เพราะฉะนั้นการเลี้ยงปลาบึกในความคิดส่วนตัวของผมนั้นไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย"

พันธุ์ปลาที่นำมาปล่อยเลี้ยงนั้น คุณเม่งฉ่อง บอกว่ามีหลายขนาด แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยหรือสามารถปล่อยเลี้ยงในบ่อใหญ่ๆ ได้เลย ก็คือ ขนาดเท่ากับปลาทู ซึ่งราคาซื้อขายพันธุ์ปลาขนาดดังกล่าวอยู่ที่ตัวละ 70-80 บาท

"ผมจะปล่อยเลี้ยง ในอัตรา 1,000 ตัว ต่อไร่ ช่วงแรกยังไม่กินเศษอาหาร ส่วนใหญ่จะซื้ออาหารเม็ดสำเร็จรูปปลาดุกมาหว่านให้กินก่อน เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 3 หรือน้ำหนักตัวได้ครึ่งกิโลกรัม ก็เปลี่ยนอาหารใหม่ โดยให้กินเศษอาหารแทน ซึ่งปลาจะชอบมาก โดยเฉพาะพวกเศษขนมปังและผักต้มกับน้ำก๋วยเตี๋ยวด้วย

"บ่อ 80 ไร่ นั้น ผมจะให้กินอาหารวันละ 400-600 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารเสียมากกว่า ส่วนผักต้มนั้นนานๆ จะให้กินสักครั้ง มันขึ้นอยู่กับความขยันของเรา และเศษผักที่เหลืออยู่ตามท้องตลาด"

"บางวันเราก็เอาขนมปังหมดอายุจากโรงงานแถวๆ รังสิต มาให้ปลากิน ซึ่งปลาก็ชอบเหมือนกัน แถมให้กินเพียงวันละ 100-200 กิโลกรัม ต่อวัน ก็เพียงพอแล้ว เพราะว่ามันเข้าไปพองในท้อง ทำให้ปลาอิ่ม ไม่เหมือนกับผักหรือเศษอาหาร ต้องให้กินมากถึง 1 เท่าตัว แต่ขนมปังนั้นมีข้อเสียอยู่คือ มีปริมาณน้อย และไม่ต่อเนื่อง แตกต่างกับเศษอาหารมาก เพราะว่ามีทุกๆ วัน เลยทีเดียว" คุณเม่งฉ่อง กล่าว 

เมื่อเลี้ยงปลาได้ปีที่สอง เขาก็เพิ่มปริมาณอาหารเป็น 1,000 กิโลกรัม ต่อวัน และปีที่สามก็เพิ่มขึ้นอีก 1,500 กิโลกรัม

"เศษอาหารที่เราขนส่งหรือนำมาให้ปลากินเป็นอาหารนั้น ส่วนใหญ่จะใส่ไว้ภายในถัง 200 ลิตร บรรทุกโดยรถกระบะมาถึงปากบ่อ จากนั้นก็เทใส่ในบ่อเลย ปลาบึกก็จะว่ายเข้ามากิน และพวกปลาตัวเล็กๆ เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน มาเก็บกินเศษอาหาร หรือกินปลาบึกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งช่วงแรกผมจะปล่อยลงเลี้ยงรวมกัน โดยมีอัตรา 1,000 ตัว ต่อไร่ เพื่อไว้เป็นเทศบาลคอยทำความสะอาดภายในบ่อเลี้ยง แต่เชื่อมั้ยว่าเลี้ยงได้ 1 ปี ปลาพวกนี้ก็จับขายได้ไม่ต่ำกว่า 20 ตัน ต่อปี เลยทีเดียว" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

คุณเม่งฉ่อง บอกว่า ช่วงเวลาให้อาหารที่เหมาะสมก็คือ ตอนกลางวัน หรือตอนบ่ายๆ หากให้กินช่วงเช้า น้ำภายในบ่อ โดยเฉพาะจุดเทอาหารจะมีสภาพไม่ดี และมีกลิ่นด้วย เพราะว่าแสงแดดน้อย ทำให้ไม่สามารถมาฟอกสภาพน้ำได้ดีอย่างเพียงพอ

"ผมมีความสุขกับอาชีพเลี้ยงปลามากเลย เพราะว่าไม่มีเสียงพูด เสียงบ่น ไม่เหมือนกับเลี้ยงสัตว์อื่นๆ พวกหมู พวกไก่ หากเราไม่ให้อาหารมันก็ร้องเสียงดัง แต่เลี้ยงปลานี้ วันไหนไม่ให้อาหารเลี้ยง หรือมีปริมาณน้อย มันก็ไม่ร้องเสียงดังเหมือนสัตว์อื่นๆ เลย ผมชอบอาชีพนี้มาก และจะทำไปเรื่อยๆ" คุณเม่งฉ่อง กล่าว

และว่า พวกปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่นี้ ก็จะเลี้ยงไปเรื่อยๆ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งดี เพราะว่าจะได้ปลาตัวใหญ่ไปอีก ซึ่งคิดว่าราคารับซื้อคงจะไม่มีปัญหา เพราะว่าสามารถตกลงกับผู้รับซื้อก่อนจับได้ หากไม่พอใจ ก็ยังไม่จับขาย

"ปลาบึกนี้มันเจริญเติบโตเร็วมาก ผมคิดว่า หากเลี้ยงถึง 7-8 ปี เราก็อาจได้ผลผลิตปลาแต่ละตัวเกือบ 200 กิโลกรัมเลย ซึ่งเวลาจับขายแต่ละครั้งก็ได้เงินมาค่อนข้างมาก คุ้มค่ากับการรอคอย อย่างไรก็ตาม ระหว่างเลี้ยงอยู่ ถ้าเราเดือดร้อนเรื่องเงินก็สามารถจับขายได้เรื่อยๆ แต่ในส่วนของผมตอนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเงิน ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความพอใจของเราเอง ว่าต้องการราคาเท่าไร ไม่ใช่ว่าให้ใครมากำหนดราคาขายของเรา เพราะว่าตลาดรับซื้อผลผลิตของผมมีหลายระดับ ทั้งตลาดสด ร้านอาหาร ผู้ส่งออก และบ่อตกปลา ไม่พอใจ ก็ไม่ขาย" คุณเม่งฉ่อง กล่าวทิ้งท้าย






ชวนทัศนศึกษาการเลี้ยงปลาด้วยเศษอาหาร ต้นทุนต่ำ กำไรงาม

ใครสนใจอยากศึกษาการเลี้ยงปลาบึก ปลาสวาย ปลาจะละเม็ด ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุกบิ๊กอุย โดยไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ และใช้เศษอาหารเลี้ยงเพื่อลดต้นทุน สูตรง่าย ๆ ของ คุณเม่งฉ่อง นิลพัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 7/1 หมู่ที่ 10 ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โปรดสอบถามได้ที่โทร. (086) 318-5789 รับจำนวนจำกัด 

งานนี้คุณเม่งฉ่องบอกว่า ช่วงเช้า เราจะเรียนรู้การเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติทุกชนิดบริเวณปากบ่อ ช่วงบ่าย จะสาธิตการลากอวนจับปลาบึก และปลาอื่นๆ ส่งขายสู่ตลาด

จุดประสงค์การท่องเที่ยวครั้งนี้ เพื่อศึกษาการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบต้นทุนต่ำ ซึ่งสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ทั่วประเทศ รับรองไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร พลาดไม่ได้ นานๆ มีสักครั้ง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเพาะพันธุ์ปลาสวาย

การเพาะพันธุ์ปลาดุก ไม่ยากอย่างที่คิด!

“พัชรนันท์ ขาวงาม เจ้าของ ‘ณดลฟาร์ม’ จ.สุรินทร์ เลี้ยงหอยปัง-หอยขมในวงบ่อซีเมนต์เป็นอาชีพเสริม