สาววัยเกษียณ เลี้ยงปลาแบบบ่อรวม ประหยัดต้นทุน อาชีพสร้างรายได้แบบมีความสุข ที่นครนายก



             คุณอนิวรรตย์ สมชีวิตา นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สำนักงานประมงจังหวัดนครนายก ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ทางประมงจังหวัดนครนายกได้นำนโยบายเกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิตในการทำประมงมาปรับใช้ภายในพื้นที่ของเกษตรกรผู้ทำประมงในจังหวัดนครนายก ซึ่งจังหวัดนครนายกมีพื้นที่การเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมาณ 700,000 กว่าไร่ เกษตรกรทั้งหมดประมาณ 3,000 กว่าราย โดยส่วนใหญ่จะทำการประมงแบบกึ่งพัฒนา คือการเลี้ยงแบบผสมผสาน ภายใน 1 บ่อ มีปลาหลายชนิดอยู่รวมกัน 

สั่งสินค้าที่  :  ร้านบ้านโชคฟาร์ม


          “การเลี้ยงปลาแบบบ่อรวม จะมีการเลี้ยงกระจายทั่วจังหวัด ซึ่งในอำเภอองครักษ์ก็มีการเลี้ยงปลาแบบบ่อรวมค่อนข้างเยอะพอสมควร ประมาณ 300 กว่าราย และในปี 2561 เราจะมีการจัดให้พื้นที่แถวนี้เข้าโครงการแปลงใหญ่ เพราะการเลี้ยงปลาในลักษณะนี้ค่อนข้างมีปลาให้จับได้หลากหลาย เวลาที่เกษตรกรจับขายก็สามารถขายแยกชนิดกันได้ ซึ่งตอนนี้เกษตรกรบางรายก็จะมีการปล่อยกุ้งขาว นำมาเลี้ยงภายในบ่อปลาด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ทำประมงได้อีกทาง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการเลี้ยงแบบลดต้นทุนมากขึ้น ก็เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย พร้อมทั้งเลี้ยงแบบในฟาร์มมีมาตรฐานตามที่กำหนด” คุณอนิวรรตย์ กล่าว 

คุณจิม ครุฑฉ่ำ และสามี 

          คุณจิม ครุฑฉ่ำ อยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 2 ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงปลาแบบบ่อรวมมาหลายสิบปี ซึ่งการเลี้ยงด้วยวิธีนี้ทำให้เธอสามารถจำหน่ายปลาได้หลากหลายชนิด จึงทำให้การเลี้ยงปลาแบบบ่อรวมเป็นงานที่สร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี 

เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ก็ทำอาชีพประมงทันที 

          คุณจิม เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอื่น ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่ที่จังหวัดนครนายก จึงได้บุกเบิกมาปลูกบ้านอยู่ที่นี่และขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลาทันที โดยในช่วงแรกที่มาทำก็ไม่ได้เลี้ยงปลาแบบเชิงเดี่ยว แต่เลี้ยงแบบบ่อรวม ซึ่งใน 1 บ่อ จะประกอบด้วย ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ และปลาจีน 

          “เนื้อที่ทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 7 ไร่ เราก็แบ่งทำเป็นบ่อเลี้ยงปลา 6 ไร่ และอีก 1 ไร่ ก็แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกบ้าน ซึ่งเท่านี้ก็ถือว่าพอเหมาะ เพราะบริเวณบ้านไม่ต้องมีพื้นที่มาก เอาตรงอื่นมาทำบ่อเลี้ยงปลา ส่วนคันบ่อและบริเวณบ้านที่เหลือ ก็แบ่งเป็นเนื้อที่ปลูกพืชผักสวนครัว ก็ทำให้มีรายได้อีกทางในช่วงที่รอปลาโตจนกว่าจะขายได้” คุณจิม เล่าถึงที่มา 

บ่อเลี้ยงปลา ขนาด 6 ไร่ 

เน้นเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุน 

          ในช่วงแรกก่อนที่จะนำปลามาปล่อยลงบ่อ คุณจิม บอกว่า จะเตรียมบ่อ ขนาด 6 ไร่ ให้มีความพร้อมสำหรับเลี้ยงปลาทั้ง 5 ชนิด ด้วยการสูบน้ำให้แห้งบ่อ จากนั้นโรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณบ่อที่มีความลึก 1.5 เมตร จากนั้นพักบ่อต่อไปอีกประมาณ 7 วัน จึงจะนำมาใส่บ่อและเตรียมปล่อยลูกปลาลงมาเลี้ยง          

          “ลูกปลาที่มาปล่อยเลี้ยงแต่ละชนิด ก็มีขนาดไซซ์ที่แตกต่างกันไป ไซซ์ใบมะขามบ้าง ไซซ์นิ้วบ้าง โดยปล่อยปลานิลปลาตะเพียน อย่างละ 15,000 ตัว ส่วนปลายี่สก ปลานวลจันทร์ และปลาจีน อย่างละ 5,000 ตัว ซึ่งในช่วงแรกที่เป็นลูกปลาตัวเล็กก็จะเลี้ยงด้วยอาหารจำพวกรำละเอียด และอาหารเม็ดเล็กที่มีโปรตีน ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ เลี้ยงด้วยอาหารเหล่านี้จนกว่าลูกปลาจะมีอายุประมาณ 3 เดือน” คุณจิม อธิบาย 


          เมื่อปลาทั้ง 5 ชนิด มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นจะเปลี่ยนอาหารเป็นของสด จำพวกไส้หมู ไส้ไก่ ที่คัดตกเกรดจากโรงงานมาให้ปลาในบ่อกิน สลับกับการให้อาหารเม็ดที่มีขนาดเบอร์ใหญ่ขึ้นสลับกันไป และอาจมีการเสริมด้วยการหาเศษผักเศษหญ้าที่อยู่ในท้องถิ่นมาสับให้กินไปด้วยอีกทาง เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในเรื่องของอาหาร 

          จากนั้นเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 5-7 เดือน ปลาทั้ง 5 ชนิด ที่เลี้ยงทั้งหมดก็จะเริ่มเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมที่จะจับจำหน่ายได้ 

          “ในเรื่องของโรคที่เกิดกับปลา ส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศมากกว่า ถ้าช่วงไหนที่อากาศเปลี่ยนแปลง ก็จะมีปลาตะเพียนกับปลาจีน ที่จะมีอัตราการตายบ้าง แต่ตัวอื่นก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร พอช่วงที่ฝนตกหนักมากๆ เราก็จะหว่านด้วยเกลือกับปูนขาว เพื่อช่วยปรับสภาพน้ำ ไม่ให้ปลารู้สึกช็อกตายได้ไปกับอากาศหรือสภาพน้ำที่เปลี่ยนไป” คุณจิม บอก 

เน้นส่งจำหน่ายให้กับแพปลา ที่ตลาดไท 

          ในเรื่องของการทำตลาดนั้น คุณจิม บอกว่า เมื่อปลาภายในบ่อเจริญเติบโตจนจำหน่ายได้ ก็จะวิดน้ำออกให้หมดบ่อ จากนั้นก็จะคัดปลาแต่ละชนิดแยกออกตามขนาดไซซ์ที่ลูกค้ากำหนด แล้วก็จะนำปลาทั้งหมดส่งจำหน่ายยังแพปลาที่อยู่ในตลาดไท โดยเป็นเจ้าประจำที่ติดต่อกันไว้ตั้งแต่ครั้งที่เริ่มเลี้ยงปลาในช่วงแรก 

ปลาแต่ละชนิดที่เลี้ยงในบ่อแบบรวมกัน 

          “ช่วงที่ปลาขายได้ เราก็จะจ้างคนให้มาจับปลาในบ่อทั้งหมด เพื่อส่งขายไปยังแพปลา ราคาที่ได้ก็แตกต่างกันไป อย่างปลานิล ก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 30-35 บาท ปลาตะเพียน กิโลกรัมละ 40-45 บาท ส่วนปลาจีน ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ ราคาก็จะใกล้เคียงกัน อยู่ที่กิโลกรัมละ 25-30 บาท ซึ่งถ้าปลาได้กินอาหารทั่วถึง ไซซ์ส่วนใหญ่มันก็จะเสมอกัน ราคาที่เราขายได้ก็จะไม่ค่อยแตกต่างกัน โดยเราจะดูว่าช่วงไหนราคาปลาที่แพขึ้น เราก็จะจับขายในช่วงนั้น เราสามารถรอได้เวลา เพื่อดูช่วงราคาที่ดีจับขาย” คุณจิม บอกถึงการจำหน่าย 

(ขวา) คุณอนิวรรตย์ สมชีวิตา นักวิชาการประมงปฏิบัติการ 

          คุณจิม บอกว่า การเลี้ยงปลาแบบบ่อรวมสามารถทำรายได้เลี้ยงครอบครัวให้กับเธอได้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นงานให้เธอสามารถทำในช่วงแก้เหงาได้ เพราะอย่างน้อยก็ได้มีกำลังเหมือนได้ออกกำลังกาย เวลาที่เดินไปให้อาหารปลา หรือตัดหญ้าตามข้างขอบบ่อให้ปลากิน เธอจึงแนะนำว่า สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณการเลี้ยงปลาก็อาจจะเป็นงานที่สร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมได้ และขอบบ่อก็ปลูกพืชผักสวนครัวไป อย่างน้อยการทำเกษตรก็ช่วยให้มีความสุขในแต่ละวันที่ได้ลงมือทำ และดูสิ่งที่รักและชอบไปพร้อมกับความภูมิใจ 

ขอบคุณ  เทคโนโลยีชาวบ้าน https://www.technologychaoban.com/fishery-technology/article_39488 



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเพาะพันธุ์ปลาสวาย

การเพาะพันธุ์ปลาดุก ไม่ยากอย่างที่คิด!

“พัชรนันท์ ขาวงาม เจ้าของ ‘ณดลฟาร์ม’ จ.สุรินทร์ เลี้ยงหอยปัง-หอยขมในวงบ่อซีเมนต์เป็นอาชีพเสริม