การเพาะพันธุ์ปลาดุก ไม่ยากอย่างที่คิด!



การเพาะพันธ์ปลาดุก
(
Artificial Propagation of Walking Catfish)
การเพาะพันธุ์ปลาดุกในปัจจุบันนิยม ใช้วิธีการผสมเทียม เพราะเป็นวิธีการที่ให้ผลผลิตได้ดีกว่ามีความชัดเจนมั่นใจได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการค้า (คือการผลิตลูกปลาดุก  บิ๊กอุย) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า ปลาดุกลูกผสม ลูกปลาดุกชนิดนี้มาจากการดัดแปลงข้ามสายพันธุ์ (Breeding) ระหว่าง แม่พันธุ์ปลาดุกอุย (ปลาดุกนา) กับพ่อพันธุ์ปลาดุกเทศ (ปลาดุกรัสเซีย) โดยกรมประมง เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพ จึงทำให้ลูกปลาดุกบิ๊กอุยติดตลาดอย่างรวดเร็วด้วยลักษณะเฉพาะตัวที่เลี้ยงง่ายโตเร็วให้ปริมาณเนื้อสูงเหมือนพ่อ ประกอบกับคุณภาพเนื้อที่รสชาติดีเหมือนแม่นั่นเอง
ชื่อไทย : ปลาดุกอุยหรือปลาดุกนา                                  ชื่อไทย : ปลาดุกรัสเซีย
ชื่อสามัญ :Günther’s walking catfish                            ชื่อสามัญ :sharptooth catfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Clarias macrocephalus                      ชื่อวิทยาศาสตร์ :Clarias gariepinus



การผสมเทียมปลาดุก โดยการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ถูกแบ่งออกเป็น 3 วิธีด้วยกัน (ในขั้นตอนการผสมน้ำเชื้อกับไข่) แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปดังนี้
วิธีที่ 1 เรียกว่าการผสมแบบแห้ง โดยการรีดไข่ปลาจากท้องแม่พันธุ์ใส่ภาชนะที่แห้งสนิทและผสมน้ำเชื้อลงไปโดยไม่มีการเจือจางด้วยน้ำหรือสารละลายใดใดวิธีนี้มีข้อดี ที่ป้องกันไม่ให้น้ำหรือสารละลายเข้าไปในเม็ดไข่แต่มีข้อเสียทำให้สเปิร์มไม่สามารถว่ายเข้าผสมไข่ได้ทันต้องตายก่อน
วิธีที่ 2 เรียกว่า การผสมแบบเปียก โดยการผสมไข่กับน้ำเชื้อในภาชนะพร้อมกับเติมน้ำสะอาดลงไปในปริมาณใกล้เคียงกับไข่จนเหลว ข้อดี คือ ช่วยให้การเคลื่อนที่ของสเปิร์ม เข้าผสมไข่ได้สะดวกขึ้นกว่าแบบแห้ง ข้อเสีย ในกรณีที่สเปิร์มยังไม่เข้าสู่เม็ดไข่ แต่น้ำที่ผสมลงไปเข้าสู่เม็ดไข่จนอิ่มตัวก่อนทำให้ช่องไมโครไพล์ปิด (ช่องเปิดสำหรับให้สเปิร์มเข้าฝังตัว) ก่อนที่สเปิร์มจะเข้าไปทำให้ไข่เสีย เพราะไม่ได้รับการผสม
วิธีที่ 3 แบบกึ่งเปียกกึ่งแห้ง เป็นการผสมไข่กับน้ำเชื้อโดยยึดเอาข้อดี แบบที่ 1 และ 2   มารวมกันโดยมีขั้นตอน  ดังนี้
1.เช็ดภาชนะและตัวปลาให้แห้งสนิท แล้วจึงรีดไข่ปลาลงในภาชนะ
2.นำน้ำเชื้อใส่ถ้วยแก้วผสมน้ำเกลือเข้มข้น 0.3-0.6 เปอร์เซ็นต์ ลงไปเล็กน้อยเพื่อให้น้ำเชื้อเหลวขึ้นและนำไปผสมกับไข่อย่างรวดเร็ว(ภายใน 3-5 นาที)
3.ขณะผสมไข่กับน้ำเชื้อ เติมน้ำกลั่นบริสุทธิ์ตามความเหมาะสมกับปริมาณไข่
4.ให้เวลาสเปิร์มเข้าผสมกับไข่ 1-3 นาที ก่อนล้างไข่ 1-3ครั้งและนำไปฟัก(ยกเว้นไข่ปลาดุกรัสเซียไม่ควรล้างเพราะจะทำให้ไข่จับเป็นก้อนเมื่อใส่น้ำ)
ดังนั้นโดยทั่วไปการผสมแบบกึ่งเปียกกึ่งแห้งให้ผลการปฏิสนธิได้ดีที่สุด แต่จะต้องคำนึงถึงประเภทของไข่ปลาด้วยและการใช้น้ำเกลือ 0.3-0.6 เปอร์เซ็นต์ (ประเภทไม่มีกลูโคสเพราะเป็นอาหารเชื้อรา) ช่วยยืดอายุสเปิร์มให้นานขึ้นสามารถเข้าผสมกับไข่ได้ทั่วถึง

สั่งสินค้าได้ที่  :  ร้านบ้านโชคฟาร์ม

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
พ่อพันธุ์ปลาดุกรัสเซีย อายุ 8 เดือนขึ้นไป (น้ำหนัก1กิโลกรัมต่อแม่ปลาดุกอุย  5-10 กิโลกรัม)       คัดเลือกลักษณะที่ดีและเจริญพันธุ์จากลักษณะภายนอกที่แข็งแรงปราดเปรียวลำตัวยาวเรียวครีบหลังกว้างและยาวจากท้ายทอยจรดโคนครีบหาง ติ่งเพศยาวเรียวสีชมพูอ่อนๆ ผ่าดูภายในพบถุงมีน้ำเชื้อ 2 พูสีขาว ภายในถุงมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นแบบน้ำนมแม่พันธุ์ปลาดุกอายุ 8 เดือน ลักษณะภายนอกแข็งแรงสมบูรณ์ไม่บอบช้ำหรือมีแผล สังเกตความพร้องโดยดูจากลักษณะท้องอูมนิ่มผนังท้องบางช่องเพศเปิดมีสีชมพูอ่อนๆ
ฮอร์โมน
มีวิธีการฉีด 2 แบบคือ แบบเข็มเดียวและแบบ 2 เข็ม โดยการประเมินจากสภาพความพร้อมของแม่พันธุ์ถ้าแม่พันธุ์ไข่ไม่แก่จัดควรฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 1 ฉีดเพื่อกระตุ้นให้ใช้ความเข้มข้นของฮอร์โมน (ซูพรีแฟ็ค) เพียง 10-15 ไมโครกรัมต่อแม่ปลา  1 กิโลกรัม และเว้นช่วงไป 6 ชั่วโมง จึงฉีดเข็มที่ 2 โดยเพิ่มความเข้มข้นฮอร์โมนอีก 1 เท่า (20-30 ไมโครกรัม) ต่อแม่ปลา 1 กิโลกรัม ส่วนพ่อพันธุ์โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องฉีด แต่หากไม่มั่นใจความสมบูรณ์ของสเปิร์ม จึงฉีดฮอร์โมนพ่อพันธุ์ในอัตราความเข้มข้นครึ่งหนึ่งของแม่พันธุ์ หลังจากฉีดฮอร์โมนแม่พันธุ์เข็มแรกแล้ว 6 ชั่วโมง ก็จะได้สเปิร์มที่แข็งแรงสมบูรณ์
ขั้นตอนการฉีดฮอร์โมน
ตัวอย่างเช่นมีแม่พันธุ์ปลาดุก 5 ตัว ที่ขนาดต่างกัน (ให้ชั่งน้ำหนักทีละตัว) 300,400,500,600,700 กรัม การพัฒนาของไข่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์
ขั้นที่ 1กำหนดความเข้มข้นของฮอร์โมนให้สัมพันธ์กันกับการพัฒนาของไข่ จึงกำหนดให้ใช้ความเข้มข้นครั้งนี้ 25 ไมโครกรัมต่อแม่ปลา 1 กิโลกรัม
ขั้นที่ 2นำน้ำหนักแม่ปลาทั้ง 5 ตัว มารวมกัน(คิดหน่วยเป็นกิโลกรัม)ได้เท่ากับ 2.5 กิโลกรัม เมื่อปลา 1 กิโลกรัม ใช้ความเข้มข้น 25 ไมโครกรัม
ดังนั้น แม่ปลา 2.5 กิโลกรัมต้องใช้ความเข้มข้นของฮอร์โมน 2.5 × 25 = 62.5 ไมโครกรัม
ขั้นที่ เปลี่ยนความเข้มข้นฮอร์โมนให้เป็นปริมาณ (โดยคิดจากตัวยาที่ผ่านการเจือจาง แล้ว)         เมื่อตัวยา  10  ซีซี   มีความเข้มข้น   1,000  ไมโครกรัม
1   ซีซี   มีความเข้มข้น    100    ไมโครกรัม
ดังนั้น ตัวยาที่จะใช้ในครั้งนี้  (จากขั้นตอนที่2)
เท่ากับ 62.5 ไมโครกรัม
วิธีคิดเป็นซีซี คือ นำความเข้มข้นของตัวยาที่คำนวณได้ไปหารด้วย 100 () เท่ากับ 0.625 ซีซี
การฉีดปลาครั้งนี้ จำนวน 5 ตัว น้ำหนักรวม 2.5 กิโลกรัม ต้องใช้ปริมาณฮอร์โมน เท่ากับ 0.625 ซีซี
ขั้นที่ 4 การหาปริมาณน้ำกลั่นผสมยา
จากสูตร  กำหนดให้ใช้สารละลายรวม (น้ำกลั่น+ฮอร์โมน)
1 ซีซี ต่อแม่ปลา 1 กิโลกรัม
วิธีคิด         ปริมาณสารละลายรวมทั้งหมดที่จะใช้ – ปริมาณฮอร์โมน
เท่ากับปริมาณน้ำกลั่น
แทนค่า 2.5 – 0.625 = 2.075 ซีซี
ขั้นที่ 5วิธีการใช้โมทิเลี่ยม(ตัวยาโดมเพอริโดน)
จากสูตร กำหนดให้ใช้ 10 มิลลิกรัมหรือ 1 เม็ด ต่อปลา 1 กิโลกรัม
เมื่อน้ำหนักปลาทั้งหมด 2.5 กิโลกรัม
จึงต้องใช้เท่ากับ 25 มิลลิกรัมหรือ 2.5 เม็ด
ขั้นที่ 6 ผสมกับตัวยาจากการคำนวณ
ฮอร์โมน (ซุพรีแฟ็ค)  = 0.625 ซีซี
น้ำกลั่น        = 2.075 ซีซี
โดมเพอริโดน (โมทิเลี่ยม)                = 25 มิลลิกรัม (2.5 เม็ด)
โดยบดโมทิเลี่ยมด้วยครกบดยาให้ละเอียด เติมน้ำกลั่นและซูพรีแฟ็ค (คนให้เข้ากัน) ทิ้งไว้ 1-3 นาที ให้โมทิเลี่ยมตกตะกอนจึงใช้เข็มฉีดยาดูดเฉพาะน้ำยาไปฉีดให้แม่ปลา
ขั้นที่ 7 วิธีการฉีด
กรณีปลาหลายตัวและน้ำหนักต่างกันให้ฉีดในปริมาณที่เท่ากับน้ำหนักปลาแต่ละตัว เช่น น้ำหนัก 0.3 กิโลกรัม (300 กรัม) ฉีด 0.3 ซีซี
หลังจากการฉีดฮอร์โมน 12-24 ชั่วโมง แม่ปลาจะพร้อมวางไข่
ปลาดุกรัสเซียจะพร้อมวางไข่ช่วง 10-12 ชั่วโมง
ปลาดุกอุยพร้อมวางไข่ช่วง 18-24 ชั่วโมง
การฉีดฮอร์โมน
1.ฉีดฮอร์โมนโดยการใช้เข็มขนาดเล็ก (เบอร์23-24) แทงเข็มเข้ากล้ามเนื้อแม่ปลาลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร เอียงทำมุม 30 องศากับลำตัวปลา ปลายเข็มไปทางหัวปลา
ตำแหน่งฉีดให้สังเกต จุดระหว่างกลางเส้นข้างลำตัว กับฐานครีบหลังและตั้งฉากกับโคนครีบทวาร
2.ใช้นิ้วกดก้านสริงค์ (หลอดฉีดยา) เบาๆและใช้นิ้วมือซ้ายนวดคลึงกล้ามเนื้อบริเวณเหนือปลายเข็มเพื่อช่วยให้ตัวยาไหลเวียนสะดวกไม่คั่งบริเวณนั้น ซึ่งมีผลให้กล้ามเนื้ออักเสบเน่าเปื่อย การดึงปลายเข็มออกให้ใช้นิ้วกดเบาๆที่บริเวณแผลเพื่อไม่ให้ผิวหนังถลอกและปากแผลฉีกขาด
3. การแทงเข็มให้หลอดฉีดยา (สริงค์) หันด้านตัวเลขขึ้นด้านบน เพื่อกำหนดปริมาณยา ไข่ควรหมุนเข็มขึ้นดูตัวเลขเมื่อแทงเข็มเข้ากล้ามเนื้อแล้ว ข้อสำคัญ ขณะแทงเข็มต้องใช้นิ้วมือที่เหลือล็อคก้านสริงค์ไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว และ ห้ามวางปลายนิ้วที่ปลายก้าน  สริงค์ก่อนและขณะแทงเข็ม เพราะอาจเกิดความผิดพลาดกดก้านสริงค์ ทำให้น้ำยาไหลทิ้ง เป็นอันตรายกับแม่ปลาและผู้ฉีด
การทดสอบความพร้อมของแม่ปลาหลังจากการฉีดฮอร์โมน
หลังจากฉีดฮอร์โมน นำพ่อแม่พันธุ์ไปฟักแยกกันในบ่อหรือภาชนะที่เหมาะสม จนใกล้ถึงเวลากำหนดที่แม่ปลาจะปล่อยไข่ออกมา (ปลาดุกรัสเซียไข่จะเริ่มไหลช่วง   10-12 ชั่วโมง,ปลาดุกอุยไข่จะเริ่มไหลช่วง 18-24 ชั่วโมง) มากน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับการเจริญพันธุ์และความสมบูรณ์ของแม่ปลา จากนั้นเมื่อถึงกำหนดเวลาให้ตรวจเช็คโดยสุ่มแม่ปลาขึ้นมาใช้นิ้วหัวแม่มือวางทำมุม 30 องศา เหนือช่องเพศ กดเบาๆเมื่อไข่หลุดออกมาง่ายนำส่องกับแสงถ้ามีลักษณะใสผิวมันเงาสีเขียวหรือน้ำตาลให้ดำเนินการรีดไข่ทันที ไม่เช่นนั้นแม่ปลาจะปล่อยไข่ไหลทิ้ง


ขั้นตอนการผสมไข่กับน้ำเชื้อ
เมื่อแม่ปลาพร้อมวางไข่ ให้นำแม่ปลามารีดไข่ใส่ภาชนะที่สะอาดและแห้งสนิท ขณะเดียวกันก็ผ่าท้องพ่อพันธุ์เพื่อเก็บถุงน้ำเชื้อ (ลักษณะ 2 พู สีขาวขุ่นวางอยู่ใต้อวัยวะภายใน) ซับเลือดและเมือกให้แห้งสะอาด
ใช้กรรไกรตัดเป็นริ้วฝอยๆห่อด้วยผ้าขาวบางบีบหยดลงบนไข่ในภาชนะแบบสดๆหรือจะผสมด้วยน้ำเกลือบริสุทธิ์ปราศจากกลูโคส เข้มข้น 0.3-0.6 เปอร์เซ็นต์ (มีขายในท้องตลาด) ใช้ขนไก่คนให้ทั่วเม็ดไข่ 1-3 นาที เติมน้ำสะอาดให้ท่วมไข่รินน้ำทิ้ง 2-3 ครั้ง เพื่อล้างไข่เอาสารละลายเมือก,เลือดและน้ำเชื้อออก ป้องกันการเจริญของเชื้อราละแบคทีเรีย ยกเว้นไข่ปลาดุกรัสเซียไม่ควรล้างไข่เพราะจะทำให้ไข่จับกันเป็นก้อนใหญ่และไม่สามารถนำไข่ไปฟักได้ใช้กรรไกรตัดเป็นริ้วฝอยๆห่อด้วยผ้าขาวบางบีบหยดลงบนไข่ในภาชนะแบบสดๆหรือจะผสมด้วยน้ำเกลือบริสุทธิ์ปราศจากกลูโคส เข้มข้น 0.3-0.6 เปอร์เซ็นต์ (มีขายในท้องตลาด) ใช้ขนไก่คนให้ทั่วเม็ดไข่ 1-3 นาที เติมน้ำสะอาดให้ท่วมไข่รินน้ำทิ้ง 2-3 ครั้ง เพื่อล้างไข่เอาสารละลายเมือก,เลือดและน้ำเชื้อออก ป้องกันการเจริญของเชื้อราละแบคทีเรีย ยกเว้นไข่ปลาดุกรัสเซียไม่ควรล้างไข่เพราะจะทำให้ไข่จับกันเป็นก้อนใหญ่และไม่สามารถนำไข่ไปฟักได้

การฟักไข่
เตรียมบ่อฟักไข่ (บ่อซีเมนต์หรือภาชนะอื่นๆที่สะดวก) มีระดับน้ำสูง             20-30  ซ.ม. เตรียมแผงไข่ทำด้วยมุ้งไนล่อนขนาดเบอร์ 16-20 วางในบ่อพักสูงจากพื้น 15-20  ซ.ม. นำไข่ที่ผ่านขั้นตอนการผสมแล้วไปโรยบนแผงฟัก
ควรระวัง ไม่ให้ไข่กองซ้อนทับกันควรให้ไข่เรียงเม็ดตรงช่องตาข่ายพอดีเพื่อให้ไข่ได้รับออกซิเจนทั่วถึงกันและสะดวกในการแยกลูกปลาที่ฟักเป็นตัวและลอดช่องตาข่ายลงสู่พื้นบ่อ
ให้ออกซิเจนในน้ำตลอดเวลาประมาณ 24-36 ชั่วโมง ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวและไปกองรวมกันที่มุมบ่อด้านล่าง จึงจัดการจำแนกแผงไข่ขึ้นก่อนที่สิ่งสกปรกเหล่านั้นจะทำให้น้ำเน่าเสียเพราะเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อรา


การอนุบาลลูกปลา
หลังจากลูกปลาฟักออกมาเป็นตัว ช่วงแรกจะดิ้นอยู่บนแผงฟักไข่5-10 ชั่วโมง (บางส่วนจะร่วงลงพื้นทางช่องตาข่าย) จากนั้นจะเริ่มไปอยู่รวมกันมุมบ่อ จึงยกแผงฟักไข่ขึ้นไปทำความสะอาด ลูกปลาจะมีถุงไข่แดง(yoke)ติดท้องอยู่เพื่อเป็นอาหารยังไม่สามารถว่ายน้ำได้และยังไม่ต้องให้อาหารภายนอก ประมาณ 2-3 วัน ถุงไข่แดงจะยุบลูกปลาจะเริ่มหิวและว่ายน้ำซุกซนสำรวจหาอาหารกินจึงจะเริ่มให้อาหารโดยใช้ไข่ไก่ต้มสุกเอาเฉพาะไข่แดงบดละเอียดกรองด้วยผ้าขาวบางผสมกับน้ำหยดหรือสาดให้ทั่วบ่อ ให้ในปริมาณที่ลูกปลากินหมด(ป้องกันน้ำเน่าเสีย)ควรใช้วิธีให้น้อยๆแต่บ่อยครั้งวันละประมาณ5มื้อหรือทุก2ชั่วโมง ให้สังเกตลูกปลาที่กินอิ่มท้องจะเป็นสีเหลือง
*      ให้ไข่แดงเป็นอาหารลูกปลา 5-7 วัน จากนั้นเปลี่ยนมาให้ไรแดง เพราะการให้ไข่แดงนานเกินไปไม่เป็นผลดี เพราะมีไขมันและกลีเซอรอลสูงเกินความต้องการของลูกปลา ทำให้ลูกปลาอ่อนแอ เพราะต้องใช้พลังงานในการ  ขับสารอาหารส่วนเกินทิ้งทางเมือก
*       หลังจากให้ไรแดง 7-10 วัน ลูกปลาเจริญเติบโตขนาดความยาว 1-2 ซ.ม. จึงเริ่มให้อาหารผงผสมกับน้ำปั้นเป็นก้อนหรืออาหารเม็ดแช่น้ำสำหรับลูกปลา
*       ขณะอนุบาลในบ่อซีเมนต์ใช้วิธีการทำความสะอาดบ่อโดยการดูดตะกอนทิ้งและเปลี่ยนถ่ายน้ำ1ใน3ส่วนวันละ1ครั้งก่อนให้อาหารมื้อแรกด้วยวิธีน้ำล้นหรือดูดผ่านตะกอนและเติมน้ำใหม่ ลูกปลาจะสุขภาพดีเจริญเติบโตตามวัย
*       เมื่อลูกปลาอายุได้ 20-30วัน ควรคัดขนาดที่แตกไซส์ออกเพิ่มบ่ออนุบาลลดความหนาแน่นหรือให้ดีที่สุดควรนำไปอนุบาลต่อในบ่อดิน ที่ผ่านการเตรียมบ่อฆ่าเชื้อและใส่ปุ๋ยคอกทำน้ำเขียว (เพิ่มแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์)หรือลูกไรไว้ล่วงหน้า 7-10วัน ใช้เวลาอนุบาลต่อด้วยอาหารสำเร็จรูป,ไรแดง หรือ ปลาป่นผสมรำข้าว ประมาณ1เดือนก็จะได้ลูกปลาขนาดความยาว 3-5 ซ.ม ตามที่ตลาดต้องการ

สั่งสินค้าได้ที่  :  ร้านบ้านโชคฟาร์ม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ไปดูการเลี้ยงปลาบึกด้วยเศษอาหาร ต้นทุนต่ำ ได้กำไรสูง ที่ลำลูกกา

การเพาะพันธุ์ปลาสวาย